อาการปวดหลังเป็นอย่างไร

             

            
     อาการปวดหลัง เป็นอาการที่พบได้บ่อย พบได้ทุกเพศ ทุกวัย เชื่อว่าทุกคนต้องเคยปวดหลังซักครั้งในชีวิต ไม่ว่าจะสาเหตุจากอะไรก็ตาม   อาการปวดหลังเกิดได้จากหลายสาเหตุ แบ่งง่าย ๆ คือ 
  1. เกิดจากสาเหตุที่ไม่อันตราย เช่น อาการปวดเจ็บ กล้ามเนื้อเส้นเอ็นหรือบางคนอาจเรียกว่า กล้ามเนื้ออักเสบ ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด
  2. เกิด จากสาเหตุที่อันตราย ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เช่น กระดูกหรือหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท โรคติดเชื้อ หรือ เนื้องอกในกระดูกสันหลัง
วิธีการสังเกตง่าย ๆ ว่า ถ้ามีอาการดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ
  1. ระยะเวลาของอาการปวดหลัง  ถ้าปวดหลังจากกล้ามเนื้อเส้นเอ็น อักเสบธรรมดา โดยธรรมชาติของโรค อาการควรจะดีขึ้นหรือหายไป ภายใน 1 – 2 สัปดาห์ เพราะฉะนั้นถ้ามีอาการปวดหลัง นานกว่า 2 สัปดาห์ อาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นได้ 
  2. ปวดหลังร่วมกับมีอาการอื่น ๆ  ถ้าปวดหลังร่วมกับมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดหลังและปวดร้าวลงขา  มีอาการชา  หรืออ่อนแรงที่ขา มีไข้หรือเบื่ออาหารน้ำหนักลดร่วมด้วย 
     ปัจจุบันมีเครื่องมือ ในการวินิจฉัยที่รวดเร็วและเม่นยำมากขึ้น เช่น เครื่องเอ็มอาร์ไอสแกน (MRI : Magnetic Resonance Imaging) เป็นการถ่ายภาพ โดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า จะได้ภาพที่คมชัดกว่าและวินิจฉัยโรคได้แม่ยำกว่า การถ่ายภาพ ถ่ายรังสี  (X-ray) ธรรมดามาก ซึ่งการส่งตรวจก็ขึ้นกับ ประวัติ อาการ และดุลพินิจของแพทย์ที่ทำการรักษา

     ฉะนั้นเมื่อมีอาการปวด โดยไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย สามารถดูแลตัวเองก่อนไปพบแพทย์ได้ง่าย ๆ เช่น พักการทำงานหรือทำงานลดลง, งดการออกกำลังกาย 2 – 3 วัน ทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือยาคลายกล้ามเนื้อ ระยะสั้น 3 – 5 วัน ถ้าอาการดีขึ้น สามารถกลับไปทำงานหรือออกกำลังกายได้ตามปกติ แต่ถ้าปวดติดต่อกันเกิน 1 – 2 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และรับการรักษาที่ถูกต้อง


ถ้าอาการปวดหลังดีขึ้นแล้ว ระยะยาวเราสามารถป้องกันการปวดหลังไม่ให้กลับมาเป็นอีก
 ได้หลายวิธี ได้แก่
  1. การปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวัน เช่น ขณะนั่งทำงานควรนั่งหลังตรง หรือพิงพนักเก้าอี้ ไม่ควรนั่งหลังค่อม, การยกของจากพื้น ไม่ควรใช้วิธีก้มหลัง แต่ควรใช้วิธีย่อเข่าและหลังตรงแทน จะลดโอกาส เกิดอาการปวดหลังได้
  2. ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนเกินไป 
  3. ควรหลีกเลี่ยง เหล้าและบุหรี่ เพราะมีการศึกษาชัดเจนว่าทำให้เกิดอาการปวดหลังเพิ่มขึ้น
  4. ควร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ข้อนี้สำคัญมาก เนื่องจากการออกกำลังกายเป็นประจำจะทำให้กล้ามเนื้อเส้นเอ็นแข็งแรงมากขึ้น และบาดเจ็บยากขึ้น จะทำให้โอกาสเกิดอาการปวดหลังลดลง แนะนำให้ออกกำลังกายทั่วไป เช่น แอโรบิก, จ๊อกกิ้ง, ว่ายน้ำ จะบริหารกล้ามเนื้อได้ดีกว่า การออกกำลังเฉพาะส่วน

     สำหรับกลุ่มที่ปวดหลังมานาน และมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ  ส่วนใหญ่มักเกิดจากกระดูกหรือหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทมากที่สุด การรักษาทำได้ไม่ยาก แพทย์จะให้การรักษาโดยการรับประทานยา และกายภาพบำบัดก่อน  พบว่า 80- 90% ของผู้ป่วยหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด มีผู้ป่วย 10 – 20 % เท่านั้น ที่อาการไม่ดีขึ้นและจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด ในปัจจุบันการผ่าตัดมีหลายวิธี แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้เลือกวิธีที่คิดว่าเหมาะสมที่สุดให้แก่ผู้ป่วยแต่ละราย 


ปวดหลัง เมื่อไหร่ควร X-ray  
     มีคนไข้ที่มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดหลัง หลายคนขอ X-ray เพราะเกรงว่ากระดูกสันหลังจะผิดปกติหรือไม่  ซึ่งในคนไข้บางรายไม่จำเป็นต้อง X-ray แต่ก็จะมีคำถามตามมาทันทีว่า แล้วเมื่อไหร่ที่ควรจะ X-ray เพื่อหาความผิดปกติของอาการปวดหลัง แพทย์กระดูกส่วนใหญ่จะพิจารณาดังนี้
  1. อายุ :  กลุ่มคนวัยทำงานจะมีอาการปวดหลังได้บ่อย เนื่องจากการใช้งานที่มากกว่าปกติ และส่วนใหญ่จะไม่ผิดปกติ เพียงทานยา หรือนวดยา และพัก อาการก็จะดีขึ้นได้เอง เพราะฉะนั้นกลุ่มนี้ไม่ต้อง X-ray แต่ในทางตรงกันข้าม กลุ่มเด็ก(อายุ< 20 ปี) และกลุ่มคนสูงอายุ(อายุ>55 ปี) เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีความผิดปกติในกระดูกมากกว่า ทั้ง 2 กลุ่มนี้ควรจะ X-ray 
  2. ตำแหน่งที่ปวด และ อาการร่วม :  ถ้าสังเกตดูจะพบว่า คนที่ปวดหลังส่วนใหญ่จะปวดบริเวณบั้นเอวเป็นหลัก เพราะฉะนั้นในกลุ่มคนที่ปวดตำแหน่งอื่น เช่น กลางหลัง( Thoracic level) หรือปวดร้าวลงสะโพกหรือขา หรือมีอาการอ่อนแรง ชาร่วมด้วย กลุ่มนี้มักจะมีความผิดปกติในกระดูกสันหลัง   
  3. ระยะเวลา : เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญในการพิจารณา จากการศึกษาพบว่าอาการปวดหลังเฉียบพลัน(Acute low back pain) 80-90% อาการจะดีขึ้นเองใน 2 สัปดาห์ เพราะฉะนั้นถ้ามีอาการปวดมานานเรื้อรังนานเกิน 3-4 สัปดาห์ หรือไปหาหมอติดตามการรักษาเกิน 2 ครั้งแล้วไม่ดีขึ้นควรหาสาเหตุ 
  4. ความรุนแรงของอาการ : ระดับความรุนแรงของอาการเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ  ส่วนใหญ่จะดูที่การใช้งานและการรบกวนชีวิตประจำวันเป็นหลัก เช่นถ้าปวดมากจนทำงานไม่ได้ ต้องออกจากงาน หรือปวดมากจนนอนไม่หลับ ต้องตื่นกลางคืนเพราะปวด ควรหาสาเหตุ 
  5. โรคประจำตัว และยาที่ใช้ประจำ : เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก  เช่นถ้ามีโรคประจำตัวที่สำคัญ เช่นเป็นโรคมะเร็ง แต่รักษาหายนานแล้ว ก็ควร X-ray เพราะบางครั้งตัวเนื้องอกอาจกลับมาเป็นใหม่ แล้วกระจายไปที่กระดูกสันหลังได้ หรือกลุ่มที่ติดเชื้อง่าย เช่น เป็นโรคเอดส์  ทานยาสเตียรอยด์ หรือรับยาเคมีบำบัดอยู่  เพราะฉะนั้นอย่าอายที่จะบอกหมอ ว่าคุณมีโรคประจำตัวอะไร เพราะประวัติสามารถเปลี่ยนการรักษา และอาจเปลี่ยนชีวิตคุณได้ 
  6. อาการอื่นๆ : ถ้าคุณมีอาการอื่นๆดังต่อไปนี้ร่วมด้วย เช่นมีไข้ เบื่ออาหาร และน้ำหนักลด ต้องแจ้งแพทย์ทุกครั้ง เพราะแสดงถึงอาจมีโรคร้ายแรงที่กระดูกสันหลังได้
     ทั้งหมดเป็นหลักการพิจารณา อย่างง่ายๆ แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าบางครั้งการดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินกว่าจะสรุปได้ในหน้าเดียว ถ้าอย่างไรหากคุณมีอาการเหล่านี้ควรพบแพทย์เฉพาะทางกระดูกสันหลัง เพื่อปรึกษา  และให้แพทย์ใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาการรักษาที่เหมะสมได้

อ้างอิง : http://samitivejhospitals.com/healtharticle_detail/%E0%B8%9B%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87_1372/th

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 

Social Network

   

Popular Posts